อาการแพ้ฟิลเลอร์
อาการแพ้ฟิลเลอร์ โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นมีได้น้อยมาก หากเป็นการฉีดด้วยการใช้สารไฮยาลูรอนิกแอซิด (HA) เนื่องจากมีข้อดีคือ ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และก่อนฉีดไม่จำเป็นต้องทดสอบอาการแพ้ อยู่ในร่างกายได้นาน มีความคงตัว อีกทั้งยังสามารถสลายไปได้เอง
แต่เนื่องจากไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะสามารถฉีดฟิลเลอร์ได้ ซึ่งคุณหมอได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมถึงข้อยกเว้นในบางกรณี ดังรายละเอียดในบทความดังต่อไปนี้ครับ
การฉีดฟิลเลอร์ไม่เหมาะสำหรับใครบ้าง?
ผู้ที่มีข้อจำกัดดังต่อไปนี้จะไม่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่สามารถฉีดฟิลเลอร์ได้
1. เพื่อป้องการอาการกำเริบมากยิ่งขึ้น ในผู้ที่เป็นงูสวัด หรือเริมอยู่ จึงควรหลีกเลี่ยงการฉีดฟิลเลอร์
2. หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร
3. ผู้ที่มีอาการแพ้สารไฮยาลูรอนิกแอซิด หรือแพ้ฟิลเลอร์ คือ ผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์ไม่ได้เด็ดขาด
4. คนที่กำลังรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด อาทิเช่น ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Warfarin), ยาแก้อักเสบปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (NSAIDS), ยาแอสไพริน (ASA), สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Gingko biloba) และวิตามินอี (Vitamin E) รวมทั้งคนที่มีปัญหาเลือดออกแล้วหยุดยาก หรือมีแผลฟกช้ำง่าย
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ และอาการแพ้ฟิลเลอร์ สังเกตได้จากอะไรบ้าง?
อาการแพ้ฟิลเลอร์หรือผลข้างเคียงจากการฉีด filler แบ่งออกเป็นหลายชนิดที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้
1. ในกรณีที่เกิดรอยแดง หรือรอยช้ำบริเวณที่ฉีด filler ภายในระยะเวลา 1-2 อาทิตย์จะสามารถหายไปได้เอง
2. หากใช้เทคนิคการฉีดที่ตื้นจนเกินไป อาจจะเกิดผิวไม่เรียบ (beading) หรือเกิดรอยนูน เช่น การฉีดในบริเวณที่ชั้นผิวมีความบาง การฉีด filler ในปริมาณที่มากเกินไป หรือมีการเลือกใช้ฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลไม่เหมาะกับปัญหาที่คนไข้ต้องการแก้ไข เหล่านี้อาจจะส่งผลให้เป็นรอยนูน หรืออาจเห็นฟิลเลอร์เป็นก้อนได้
3. ฟิลเลอร์มีการเคลื่อนที่ไปยังบริเวณข้างเคียงที่ไม่ต้องการ ไหลออกจากตำแหน่งที่ฉีด คือ เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายของฟิลเลอร์ อันเนื่องมาจากการฉีดฟิลเลอร์ใกล้ ๆ กับกล้ามเนื้อที่มีการขยับบ่อย ๆ ดังนั้น ในการป้องกันการเกิดปัญหาฟิลเลอร์เคลื่อนย้ายจากบริเวณที่ฉีด และเพื่อรักษาผลลัพธ์ของฟิลเลอร์ให้อยู่ได้นานยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือเทคนิคการฉีดที่ดี รวมทั้งเลือกฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลเหมาะสม
4. เป็นผื่นลมพิษแบบรุนแรง (angioedema) เป็นอาการแพ้ฟิลเลอร์ที่จะพบได้น้อยมาก ซึ่งหากมีอาการคนไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที
5. คนไข้บางรายเกิดอาการแพ้ฟิลเลอร์ ที่มีลักษณะเป็นก้อน นูน แดง อักเสบ หลังจากการฉีดฟิลเลอร์ผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลาหลาย ๆ เดือนหรืออาจนานเป็นปี ซึ่งอาการแพ้ประเภทนี้อาจพบได้ในบางครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นกับภูมิคุ้มกันของผู้ที่รับการฉีด และอายุใช้งานของฟิลเลอร์แต่ละชนิดด้วย
6. อาจเกิดการติดเชื้อภายหลังการฉีดฟิลเลอร์ ทั้งนี้ อาจมีอาการตั้งแต่ แดง ร้อน ปวดบวม มีตุ่ม หรือมีก้อนหนองตรงบริเวณที่ฉีด หากฉีดกับหมอกระเป๋า เลือกทำที่คลินิกไม่ได้มาตรฐาน หรือเทคนิควิธีการฉีดที่ไม่ถูกต้อง ไม่สะอาด
7. กรณีการฉีดฟิลเลอร์ผิดตำแหน่ง โดยการฉีดเข้าไปโดนบริเวณหลอดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดแดง อาจทำให้หลอดเลือดเกิดการอุดตัน จนอาจส่งผลให้บริเวณที่เส้นเลือดนั้นมาเลี้ยงเกิดอาการเนื้อตาย (necrosis) ขึ้นได้ครับ
8. หลังจากฉีด filler เกิดตาบอด อันเกิดจากฟิลเลอร์ที่ฉีดเข้าไปอุดตัน บีบ หรือไปกดหลอดเลือดแดง (supratrochlear and supraorbital artery) ซึ่งมีแขนงต่อไปที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา (ophthalmic artery) จนอาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นครับ
(รูปภาพในกรณีเกิดอุบัติเหตุหลังจากการฉีดฟิลเลอร์จมูก (ตัวอย่างเคสแก้ไข) แล้ว filler เข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งมีเนื้อตายชั่วคราว (สังเกตได้จากบริเวณจุดสีดำ ๆ) ทั้งนี้ หากฉีดโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง รวมทั้งมีการใช้ผลิตภัณฑ์ฟิลเลอร์ HA ที่ได้มาตรฐาน จะสามารถแก้ไขได้อย่างทันการณ์ และมีความปลอดภัย)
ขอบคุณข้อมูล: [แนะนำ] ฟิลเลอร์ยี่ห้อไหนดี แตกต่างกันอย่างไร ฉีดฟิลเลอร์ที่ไหนดี
จาก Youtube Channel: V Square Clinic
หลังฉีดฟิลเลอร์ห้ามกินอะไร? อยากให้ฟิลเลอร์เข้าที่เร็วขึ้นต้องระวังในเรื่องใดบ้าง?
หลังฉีดฟิลเลอร์คนไข้ควรใส่ใจในการดูแลตัวเองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้ฟิลเลอร์เข้าที่ได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงดเว้นการกินอาหารบางชนิดที่มีส่วนกระตุ้นการอักเสบหรืออาจส่งผลให้ฟิลเลอร์สลายเร็วขึ้นด้วย อันเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาผลลัพธ์หลังฉีด filler ให้อยู่ได้นานขึ้นอีกด้วย
1. คนไข้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทสุก ๆ ดิบ ๆ หรือร้านอาหารที่ไม่สะอาด เพราะอาจเกิดการอักเสบได้ หากกรณีที่มีพยาธิบางชนิดในอาหาร ซึ่งอาจไปทำปฏิกิริยากับฟิลเลอร์
2. งดดื่มเบียร์ ไวน์ เหล้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
3. ควรงดสูบบุหรี่ จะทำให้ยุบบวมช้า เพราะในบุหรี่มีสารหลายชนิดที่ขยายหลอดเลือด และยังทำให้ผลการรักษาอยู่ได้สั้นลงอีกด้วย
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดจัด และอาหารที่แสบร้อนจนหน้าแดง
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องนั่งการกินอยู่ที่หน้าเตาร้อน ๆ จำพวกหมูกะทะ ชาบู ปิ้งย่าง
6. ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัด รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว เพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและบวมขึ้นได้
7. หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เพราะมีสารที่ส่งผลให้เส้นเลือดขยายตัว ยกตัวอย่างเช่น หน่อไม้ดอง มะม่วงดอง และปลาร้า
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญในการฉีดฟิลเลอร์ก็คือ ควรเลือกฉีดกับผู้ที่เป็นแพทย์เท่านั้น เนื่องจากแพทย์มีเทคนิคการฉีดที่ดี มีประสบการณ์สูง จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาตามมาในภายหลังและสามารถแก้ปัญหาของคนไข้ได้อย่างตรงจุด รวมทั้งควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมายด้วยครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.vsquareclinic.com/tips/what-is-allergic-reaction-filler/